2554/09/27

เสียดาย

มีเมลฉบับหนึ่ง ได้เก็บไว้ตั้งแต่ปี 2007 กล่าวถึงความเสียดาย ที่ไม่ได้ทำในสิ่งสำคัญต่างๆ ตอนนั้น อ่านแล้วรู้สึก อืม โอเคนะ เห็นด้วย
วันนี้หาข้อมูล แล้วบังเอิญเปิดเมลนี้อีกครั้ง ได้อ่านอีกครั้งหนึ่ง แล้วนึกย้อนไปเมื่อสาม สี่ปีที่แล้ว แล้วรู้สึก "เสียดาย" เวลา และความตั้งใจที่เคยมี แล้วไม่ได้ทำ
ใกล้ปีใหม่อีกแล้วครับ เพื่อนๆ เคย "เสียดาย" กับเป้าหมาย และความฝันเก่าๆ ที่หลงลืมไป ไม่ได้ทำหรือเปล่า ลองอ่านบทความที่ผมเอามาจากเมลเก่าๆ นี้ดูนะครับ
เป็นบทความจาก G Magazine ขอบคุณเพื่อนคนหนึ่ง ที่ส่งต่อเมลนี้มาให้อ่าน เมื่อ สี่ปีที่แล้วครับ



คนที่กำลังทะเลาะกัน มองไม่เห็นหรอกว่าตัวเองถูกหรือผิด ..... คนที่ไม่เคยลำบาก ไม่รู้หรอกว่าความลำบากนั้นเป็นอย่างไร
คนที่ไม่เคยเป็นหนี้ ไม่รู้หรอกว่าการรอคอยให้หมดหนี้สินนั้นทรมานเพียงใด .... คนที่ไม่เคยตกงาน ไม่รู้หรอกว่าการได้งานทำนั้นสำคัญแค่ไหน ฯลฯ
เรื่อง บางเรื่องในชีวิตนี้เราอาจจะมีโอกาสทดลองหรือสัมผัสได้มากกว่าหนึ่งครั้ง .... เรื่องบางเรื่องก็มีโอกาสแก้ตัวได้ เมื่อผ่านชีวิตลำบากมาได้แล้ว ก็พอจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ลำบากอีก

แต่ ... เรื่องบางเรื่อง ในชีวิตนี้จะผ่านมาและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ไม่มีโอกาสแก้ตัว เพราะเรื่องบางเรื่องต้องอาศัยเวลาเกือบทั้งชีวิต จึงจะรู้ว่าสิ่งที่ผ่านมานั้นถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี และเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งสำหรับคนที่เป็นลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือน คือประสบการณ์ชีวิตและข้อคิดจากการเป็นลูกจ้าง

ข้อคิดหรือบทเรียนส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ผิดซ้ำเรื่องเดิมกับคนรุ่นก่อนๆ จึงขอเป็นตัวแทนของรุ่นพี่ๆอดีตมนุษย์เงินเดือนมาบอกเล่าให้ฟังว่า คนที่เคยทำงานกินเงินเดือนในรุ่นที่ผ่านๆมา เขาหันกลับมามองอดีตแล้วเกิดความรู้สึกเสียดายอะไรบ้าง หรือถ้าจะพูดง่ายๆคือ เรื่องไหนบ้างที่อดีตมนุษย์เงินเดือนคิดว่า ถ้าย้อนเวลากลับมาได้จะทำให้ดีกว่าที่ผ่านมา

วันนี้จึงอยากจะสรุปคำว่า เสียดายของอดีตมนุษย์เงินเดือน เพื่อฝากเตือนใจมนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ ให้หลีกเลี่ยงหรือป้องกันดังนี้

เสียดายไม่ตั้งใจทำงานในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน
ไม่ว่าจะเป็น อดีตมนุษย์เงินเดือนหรือมนุษย์เงินเดือนรุ่นพี่ๆ ในปัจจุบันมักจะรู้สึกเสียดายกับชีวิตการทำงานที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงแรกๆของการทำงานไม่ค่อยตั้งใจและทุ่มเทมากนัก ตอนนั้นคิดว่าทำงานแลกกับเงิน ได้เงินน้อยก็ทำน้อย ที่ไหนให้มากก็ขยันขึ้นมาหน่อย คิดอย่างเดียวว่าถ้าขยันทำมาก เจ้านายจะติดใจและใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็เหนื่อยอยู่คนเดียว มารู้ตัวอีกครั้งก็ต่อเมื่อทำงานไปตั้งนานไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเสียที เด็กรุ่นใหม่ๆที่เพิ่งเข้ามาแซงหน้าไปเสียแล้ว ที่สำคัญชีวิตช่วงแรกที่ทำงานมักจะเป็นช่วงที่เราจะรู้สึกว่าทำงานเหนื่อย กว่าตอนเรียน ดังนั้น วัยนี้คนทำงานบางคนก็เริ่มเที่ยว ดื่ม กิน ใช้ชีวิตเปลืองมาก เลิกงานเสร็จเที่ยวต่อจนดึกจนดื่น เผลอๆบางวันใส่ชุดเดิมมาทำงาน (เพราะยังไม่ได้กลับบ้านหรือที่พัก) แล้วจะ ทำงานให้ดีได้อย่างไร กายและใจมาทำงานเพียงครึ่งเดียว เพื่อนบางคนก็มัวแต่ทำงานเพื่อค้นหาตัวเองว่างานที่กำลังทำอยู่นั้น ใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่ บางคนก็ทำงานเพื่อรอโอกาสหางานใหม่ สุดท้ายชีวิตการทำงานในช่วงแรกๆ แทนที่จะมีเส้นการเรียนรู้ที่สูงชัน กลับกลายเป็นเส้นการเรียนรู้ที่แบนราบ อายุงานผ่านไป แต่อายุใจที่มีต่องานยังอยู่เท่าเดิม

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะตั้งใจและขยันทำงานตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาทำงาน และจะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับ หน้าที่ที่รับผิดชอบ และจะลดหรืองดการเที่ยวและดื่มให้น้อยลง เพราะตอนนี้ผลกรรมเริ่มสนองให้เห็นแล้วว่า การใช้ชีวิตแบบประมาทนั้น ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายระยะยาว

เสียดายที่ไม่ได้ศึกษาต่อ
ความเสียดายข้อนี้ ผมเชื่อว่าเกินครึ่งของมนุษย์เงินเดือนที่มีความรู้สึกแบบนี้ เพราะตอนเข้ามาทำงานแรกๆ เกือบทุกคนมักจะคิดว่าจะหาเวลาศึกษาต่อ รอเก็บเงินค่าเทอมไปสักพักก่อน และรอให้ทำงานเข้าที่ก่อน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทำให้มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่พลาดเป้าหมายนี้ไป เช่นงานยุ่ง ไม่มีเวลาเรียน พอจะเรียนก็เปลี่ยนงาน (เหตุผลเดิมคือรอให้งานเข้าที่แล้วค่อยเรียน) ไม่มีเงินค่าเทอม ขี้เกียจอ่านหนังสือ สอบไม่ได้ (เพราะไม่ตั้งใจ) ใจ อยากเรียนแต่ไม่เคยแม้แต่จะลงมือทำอะไรเลย เลือกที่เรียนมากเกินไป บางคนลองไปเรียนแล้วแต่ไปไม่รอดเพราะแบ่งเวลาไม่เป็น อดีตมนุษย์เงินเดือนหลายคนคิดย้อนกลับไปว่าถ้าตอนนั้นเรียนต่อในระดับนั้น ระดับนี้ ป่านนี้คงประสบความสำเร็จไปมากกว่านี้แน่นอน เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งมีโอกาสดีๆเข้ามาในชีวิต คุณสมบัติครบทุกอย่าง ขาดอย่างเดียวคือวุฒิการศึกษาไม่ถึง เลยเสียโอกาสที่สำคัญในชีวิตการทำงานไป มาถึงตอนนี้ก็แก่เกินเรียนแล้ว ยิ่งออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ถึงแม้จะมีเวลามากขึ้น แต่กำลังใจมีน้อยลง แรงใจมีน้อยลง และไม่รู้จะเรียนไปทำไม เพราะงานธุรกิจส่วนตัวที่ทำอยู่ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาสูงๆก็ได้

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คิดว่าจะต้องตัดสินใจเรียนตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ สักปีสองปี จะยอมอดทนไปสักระยะหนึ่ง และจะเรียนให้จบก่อนที่จะเปลี่ยนงานใหม่หรือมีครอบครัว

เสียดายที่มัวแต่ทะเลาะกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน
มนุษย์ เงินเดือนหลายคนเสียเวลาไปกับปัญหาคนเยอะมาก ทั้งปัญหาหัวหน้า ปัญหาเพื่อนร่วมงาน บางคนก็มีปัญหากับลูกน้องอีก วันๆเสียเวลาของสมองไปกับการคิดถึงปัญหาคนอื่น ตอนที่เป็นลูกจ้างเรามักจะคิดว่าปัญหาทะเลาะกับคนทำงานเป็นปัญหาใหญ่ เลยใช้เวลากับมันมาก เครียดกับมันบ่อย แทบจะไม่มีเวลาไปพัฒนาหรือปรับปรุงงานหรือพัฒนาตนเองเลย ตอนนั้นลืมไปว่า จริงๆแล้วไม่มีใครทำงานอยู่กับเราไปตลอดชีวิต และเราเองก็ไม่ได้ทำงานอยู่กับคนที่เราไม่ชอบไปตลอดชีวิตเช่นกัน แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดแบบนี้ คิดอย่างเดียวว่าวันนี้เรากับเขาจะมีปัญหากันเรื่องอะไรอีก คิดว่าเรื่องเมื่อวานมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนผิด ทำไมเขาจึงเป็นคนแบบนั้น สุดท้ายเราก็จมอยู่กับปัญหา คนที่บางครั้งเคยหนีจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งแล้ว ปัญหาคนเก่าหายไป แต่..ปัญหาคนใหม่ก็เกิดขึ้น

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะคิดเสียว่าปัญหาคนเหมือนกับปัญหารถชนกันบนถนน ที่เราไม่ต้องไปสนใจกับมันให้มากนัก แต่เราควรจะใส่ใจว่าเส้นทางที่เรากำลังจะเดินทางไปนั้นอยู่อีกไกลหรือไม่ เรามีเวลาเหลืออีกนานหรือไม่ ต้องคิดว่าไม่มีใครทำงานกับเราไปตลอดชีวิต และเราเองก็ไม่ได้ทำงานกับใครไปตลอดชีวิตเช่นกัน และคิดว่าถ้าเรารับปัญหาคนอื่นไม่ได้ เราคงจะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไปไม่ได้ เพราะยิ่งสูง ปัญหาคนยิ่งมากและซับซ้อนมากขึ้น

เสียดายที่เปลี่ยนงานมากไปหน่อย
ถ้า ดูประวัติมนุษย์เงินเดือนบางคน จะเห็นว่าเปลี่ยนงานทุกๆปี ปีละครั้งสองครั้ง ตอนที่เปลี่ยนงานก็มีเหตุผลมาสนับสนุนมากมาย เช่นเงินเดือนสูงกว่า อยู่ใกล้บ้าน เบื่อที่ทำงานเก่า งานใหม่ท้าทายกว่า อยากทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ฯลฯ แต่เมื่อมาถามตอนนี้ว่าผลการเปลี่ยนงานบ่อยในอดีตสรุปว่าดีหรือไม่ คำตอบที่ได้ก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่หลายคนตอบว่าถ้าพิจารณาถึงผลระยะยาวแล้ว อาจจะไม่เป็นผลดีมากนักเพราะประสบการณ์ในแต่ละที่นั้นน้อยเกินไป

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะทำงานในแต่ละที่ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพราะน่าจะเป็นเวลาที่เราได้ครบทั้งการเรียนรู้ (Learn) การทำงาน (Perform) และการพัฒนาปรับปรุงงาน (Improve) แต่ ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะต้องขึ้นอยู่กับช่วงชีวิต เพราะบางช่วงอาจจะเปลี่ยนบ่อยเพราะตลาดกำลังโต ชีวิตกำลังรุ่ง แต่บางช่วงอาจจะต้องอยู่นาน เพราะต้องหยุดพักหายใจและสั่งสมประสบการณ์ ก่อนที่จะไต่ระดับขึ้นสู่เพดานบินที่สูงขึ้น

เสียดายที่ไม่ตั้งใจเรียนภาษาต่างประเทศ
เสียดาย ภาษาอังกฤษไม่ดี เป็นคำพูดที่มักจะได้ยินจากอดีตมนุษย์เงินเดือนที่ไปสัมภาษณ์งานมาใหม่ๆ ที่มักจะรู้สึกเสียดายบริษัทฝรั่งที่เสนอเงินเดือนให้สูงๆ แต่ติดที่ภาษาอังกฤษไม่กระดิกเลย เพราะไม่ได้จบ (เมือง) นอก และทำงานแต่บริษัทคนไทย จึงไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษเลย บางคนจะหันมาเอาดีทางภาษาก็ต่อเมื่อบินสูงแล้ว ซึ่งพัฒนาได้ยากแล้ว เพราะมีเวลาน้อยและภารกิจทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะเรียนภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มทำงาน และจะเลือกทำงานกับบริษัทต่างชาติตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็อาจจะหาเงินไปเรียนต่อต่างประเทศ

เสียดายที่หาตัวเองเจอช้าไปหน่อย
มนุษย์เงินเดือน บางคนทำงานมาเป็นสิบปีแล้ว ยังหาตัวเองไม่เจอเลยว่าเป้าหมายชีวิตของตัวเองคืออะไร จะทำงานเป็นลูกจ้างไปเรื่อยๆจนเกษียณ หรือจะออกไปทำอาชีพอิสระ ขนาดถามว่างานที่ชอบหรืออยากจะทำคืองานอะไร ยังตอบไม่ได้เลย อย่างนี้จะก้าวหน้าในอาชีพการงานได้อย่างไรละครับ พูดง่ายๆคืออดีตมนุษย์เงินเดือนหลายคนทำงานเหมือนกับพายเรืออยู่ในอ่าง วันๆก็ตื่นขึ้นมาไปทำงาน เสร็จงานกลับบ้าน จันทร์ถึงศุกร์ทำงาน เสาร์อาทิตย์อยู่บ้าน รูปแบบชีวิตเหมือนเดิมเป็นเดือน เป็นปี บางคนเป็นสิบปี มารู้ตัวอีกทีก็ช้าไปเสียแล้ว เพื่อนๆรุ่นเดียวกันไปไหนต่อไหนจนมองไม่เห็นหลังกันแล้ว

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะวางแผนชีวิตตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงานว่าอีกกี่ปีจะเป็นอะไร จะทำอะไร จะต้องได้อะไร และแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ควรจะทำอะไร อย่างไรบ้าง

เสียดายทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป
คนบางคน ไม่ได้เปลี่ยนงานบ่อย แต่ไม่เคยเปลี่ยนงานเลย ตอนที่ทำงานอยู่รู้สึกว่าเราเป็นคนดีขององค์กร ไม่ยอมเปลี่ยนงานไปไหนเลย แต่พอชีวิตการทำงานผ่านเลยไปก็รู้สึกเสียใจและเสียดายเหมือนกัน ที่ชีวิตการทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียว สังคมเดียว คนบางคนอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป ช่วงเวลาที่กำลังรุ่งก็ไม่ยอมเปลี่ยนงาน พอจังหวะชีวิตผ่านไปก็คิดจะเปลี่ยนงาน ก็ทำได้ยากแล้ว เพราะเงินเดือนสูง อายุเยอะ แต่ตำแหน่งต่ำ ไปสมัครตำแหน่งที่สูงเกินไปเขาก็ไม่รับ สมัครในตำแหน่งที่เท่าเดิมก็แก่กว่าคนอื่นๆ (แถมเงินเดือนเดิมสูงกว่าอีกต่างหาก)

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะเปลี่ยนงานในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อปรับเพดานบินให้เหมาะสมกับอายุตัว และอายุงาน โดยไม่ต้องยึดติดว่าจะต้องอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งนานจนเกินไป

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์เงินเดือนควรจะเชื่อและเอาแบบอย่าง แต่ก็ไม่อยากให้มนุษย์เงินเดือนมองข้ามคำว่า เสียดาย ของอดีตมนุษย์เงินเดือนไป อย่างน้อยก็น่าจะนำไปเป็นคำถามตัวเองว่า เราอยากจะรู้สึกเสียดายในเรื่องนั้นเรื่องนี้เหมือนมนุษย์เงินเดือนรุ่น ก่อนๆหรือไม่ ถ้าไม่ เราควรจะทำอย่างไรตั้งแต่วันนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น