2554/11/27

กลวิธีดูแลจิตใจตนเอง




ทุกคนมีช่วงเวลาของความผิดหวัง เสียใจ ท้อแท้ หรือเหงาว้าเหว่ทำให้ขาดกำลังใจ ขาดแรงจูงใจที่จะปรับตัวปรับใจต่อสู้ปัญหาต่าง ๆ และมีหลายคนที่จิตใจอ่อนแอต้องพึ่งพิงสิ่งย้อมใจ เพื่อให้อารมณ์และความรู้สึกพ้นจากสภาวะทุกข์ดังกล่าว โดยเข้าใจว่าจะทำให้ลืม



ความทุกข์หรือต้องการกระตุ้นตนเองให้ร่าเริงสนุกสนาน เช่น การใช้สารเสพติดทั้งหลาย ที่เรามักพบเห็นบ่อยมากคือ การดื่มเหล้าบางคนรู้สึกเหงา ก็ดื่มเหล้า เศร้าใจก็ดื่มเหล้าปลอบใจ จะทำอะไรใจไม่กล้าก็เอาเหล้ายามาปลุกย้อมใจให้ฮึกเหิม เมื่อดื่มบ่อยเข้าจนติดทั้งกายและใจ หนทางดูแลจิตใจวิธีนี้ทำให้ชีวิตก้าวไปสู่ความตายได้….ในที่สุด
ในทางตรงข้าม วิธีดูแลจิตใจตนเองโดยไม่ต้องใช้สุรายาเสพติด ยังมีอีกหลายวิธี เช่น “การสั่งตนเอง” เริ่มจากการสำรวจตนเองว่าความไม่สบายใจไม่สบายกายนั้นมีเรื่องใดบ้าง ลงมือเขียนตามลำดับ และทำเครื่องหมาย * ในเรื่องที่ เร่งด่วนหรือเดือดร้อนใจมากที่สุด ขั้นตอนนี้เรียกว่า 
1. สำรวจและประเมินปัญหา
2. ทดลองเขียน - โยงเส้นจากสาเหตุหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (ให้บอกตนเองว่า ตัวเราย่อมรู้ ข้อมูลเรื่องนี้มากกว่าคนอื่น ๆ เพราะเป็นเรื่องของตัวเราเองและเราตั้งใจ จะทำความรู้จักตนเองในมุมนี้อย่างจริงใจ)
3. ถ้าเรื่องนั้นได้ผ่านมาแล้ว แต่เรายังคิดกังวลหรือโกรธแค้นอยู่เสมอ ให้ใช้วิธีสั่งตนเองว่าเรื่องนี้ปิดฉากแล้ว จบแล้ว ยุติไปตามวันเวลาแล้ว ชีวิตเรามิได้เดินย้อนกลับไปอีกแล้ว เราจะอยู่กับปัจจุบัน และก้าวไปสู่อนาคต


กลวิธีการสั่งตนเองหรือการพูดกับตนเองนั้น ถ้าพูดในทางดีจะมีแรงจูงใจให้เราแสดงพฤติกรรมในทางดีได้ ดังนั้น ลองปรับเปลี่ยนและฝึกการพูดทางสร้างสรรค์ เช่น 
- ฉันจะหยุดลงโทษตนเอง ทำลายตนเองด้วยสิ่งผิด ๆ หรือหยุดเคยชินกับเรื่องร้าย ๆ ทั้งหลาย
- ฉันจะเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่นที่ดีกว่า มีประโยชน์กว่าและจะเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ชั่วโมงนี้…..
- ฉันจะไม่ทำให้ตัวเองขวัญเสียกับเรื่องบ้า ๆ ที่ผ่านเข้ามา เดี๋ยวมันก็ผ่านไป…..
- ฉันเคยทำผิดมาบ้าง แต่ฉันจะไม่ทำผิดซ้ำสองอีก
- ฉันไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ แต่ฉันเป็นคนดี
- ในความเป็นจริงไม่มีอะไรจะโหดร้ายกับฉันตลอดเวลา
- ฉันเคยผิดหวัง แต่ไม่ถึงกับตาย….เพราะยังอยู่มาได้จนถึง….วันนี้

ข้อพึงระมัดระวัง คือ การพูดกับตนเองนั้น…..ถ้าเป็นการตั้งความหวัง ควรจะให้มีความเป็นไปได้ หรือมีเหตุผล ตามความเป็นจริงอยู่ด้วย
ตัวอย่างที่ไม่สมเหตุผล เช่น
- ถ้าใครไม่ชอบฉัน หมายถึงว่า ฉันเป็นคนไม่ดี
- ถ้าสอบตก แสดงถึงความล้มเหลวในชีวิต
- ฉันจะมีคุณค่า เมื่อมีความสำเร็จในทุกสิ่งที่ทำ
- การพูดกับตนเองเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งเมื่อท้อแท้หรืออ่อนล้า เช่น เราเคยทำสิ่งดี ๆ มาบ้างแล้ว เราจะสร้างสิ่งดี ๆ ได้อีก…….ลองเริ่มสิ่งที่อยากทำ……ที่ทำได้ง่ายก่อน
- ฉันจะไม่อ่อนแอพิรี้พิไรอีกต่อไป เริ่มทำงานได้แล้ว เอาล่ะทำงานไปทีละอย่าง…..วันนี้…..

ทำอะไรก่อน? อะไรจำเป็น?…..อะไรสำคัญ? ทำเดี๋ยวนี้เลยนะ……


การพูดกับตนเองด้วยความคิด หรือพูดออกเสียงอาจจะไม่เข้มข้น ในบางครั้งเพราะพูดแล้วอาจลืมบ้าง หรือมีจุดสนใจอื่น ๆ มาแทรก จึงควรมีการเขียนเป็นคำเตือนใจ ให้ได้อ่านเห็นอยู่เสมอ เช่น ติดที่กระจกซึ่งเรามักจะดูและส่องใบหน้าวันละหลาย ๆ ครั้ง หรือติดที่กระเป๋าสตางค์ หรือที่ซึ่งต้องพบเห็นเป็นประจำวัน สิ่งเหล่านี้ เป็นกลวิธีที่ทุกคนทำได้อย่างอิสระ เพราะความผิดอยู่กับตัวเราตลอดเวลา ใช้ตอนใด เวลาใด ย่อมทำได้ด้วยเหตุนี้ จึงอยากเชิญชวนให้ สะสมคำพูดดี ๆ ฝึกการนำมาใช้บอกหรือสั่งตนเองตามความจำเป็นและเหมาะสมกับเหตุการณ์ ถ้าทำได้บ่อยครั้งเราจะคิดได้เร็วและทันต่อความรู้สึกของเรา เมื่อถึงขั้นนั้น ท่านจะพบว่ามีผลดีต่ออารมณ์จิตใจและความเชื่อมั่นในตนเองด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น