2554/10/26

ศีลห้า โดยละเอียด

bhudda01 
วันนี้วันพระ มาทบทวนศีลห้ากันนะครับ ลองอ่านดูนะ ว่าจะใช่อย่างที่เราเข้าใจกันหรือเปล่า
การรักษาศีล คือการตั้งเจตนางดเว้น จากการทำความผิด
ตั้งใจงด ตั้งใจเว้น ตั้งใจไม่ทำ เพื่อความซื่อตรง ความบริสุทธิ์ผ่องใส  สะอาด  หอม  ต้องมีความ“ตั้งใจ” กำกับไว้เสมอ ไม่ใช่เพราะมีเหตุอื่นบังคับคนจึงไม่ทำผิด

แต่หากไม่ทำเพราะตนได้ตั้งใจไว้ว่าจะงดเว้น ความตั้งใจดังว่า นี้ศัพท์ทางพุทธศาสนา เรียกว่า วิรัติหรือ เจตนางดเว้น
ศีล ๕ โดยการขยายความ

ศีลข้อที่ ๑ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ปาณาติบาต

สัตว์ในที่นี้หมายถึงสัตว์มีชีวิตทุกชนิด ทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน และที่ว่ามีชีวิตนั้นนับตั้งแต่สัตว์นั้นมีปราณ หรือลมหายใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือในไข่จนกระทั่งสิ้นลมหายใจคือตาย
สัตว์ทุกชนิดย่อมมีสิทธิ์โดยชอบ ในการมีชีวิตของตนไปจนตายเอง ผู้ใดทำให้เขาเสียชีวิตด้วยเจตนา ถือว่าศีลข้อที่ ๑ ของผู้นั้นขาด
ฉายาปาณาติบาต
ผู้รักษาศีลข้อ นี้นอกจากระวังไม่ให้ศีลขาดเพราะปาณาติบาตแล้ว ถ้าวัดจากการกระทำที่เป็นฉายาของปาณาติบาตได้ด้วยก็จะทำให้ศีลของตนบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ถ้าเว้นไม่ได้ศีลของเขาก็ด่างพร้อย เหมือนผ้าที่ไม่ขาดแต่สกปรก
ฉายาปาณาติบาต คือ
ก. การทำร้ายร่างกายคือทำให้ร่างกายของเขาเจ็บปวดพิกลพิการ
ข. การทรมาน คือ ทำความลำบากแก่สัตว์เกินเหตุ เช่น
- ใช้งานหนักเกินกำลัง
- กักขังในที่คับแคบจนเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้
- นำสัตว์ไปโดยวิธีทรมาน เช่น ลากไป
- ผจญสัตว์ เช่น เล่นกัดปลา ชนไก่ ชนโค
การงดเว้นจากการทำเหล่านี้เป็นบริวารของการรักษาศีลข้อที่ ๑
ศีลข้อที่ ๒ เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์โจรกรรม
การลักทรัพย์ หมายถึง การละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของคนอื่น ของหมู่คณะ หรือของส่วนรวมเอามาเป็นของตนโดยวิธีของโจร ที่เรียกว่าโจรกรรม การรักษาศีลข้อนี้ก็คือ การเว้นจากการกระทำโจรกรรม ๑๔ อย่าง ดังต่อไปนี้
๑. ลัก ได้แก่ การขโมยเอาลับหลัง
๒. ฉก ได้แก่ ชิงเอาซึ่ง ๆ หน้า
๓. กรรโชก ได้แก่ ขู่ให้เขากลัวแล้วให้ทรัพย์
๔. ปล้น ได้แก่ การรวมหัวกันหลายคนตีปล้นเอาทรัพย์
๕. ตู่ ได้แก่การอ้างหลักฐานพยานเท็จเอาทรัพย์ของคนอื่น
๖. ฉ้อ ได้แก่การทำอุบายฉ้อฉลให้เจ้าทรัพย์ตามไม่ทันแล้วเอาทรัพย์
๗. หลอก ได้แก่การปั้นเรื่องขึ้นหลอกให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์
๘. ลวง ได้แก่การใช้เครื่องมือแลกเปลี่ยนผิดมาตรฐานตบตาคนอื่น
๙. ปลอม ได้แก่การทำของปลอมใช้ของปลอมแลกเปลี่ยนได้ทรัพย์มา
๑๐. ตระบัด ได้แก่ บิดพลิ้ว คำมั่นสัญญาเพื่อเอาทรัพย์
๑๑. เบียดบัง ได้แก่การปกปิดซ่อนทรัพย์ จนเจ้าของทอดอาลัยแล้วเอาเสีย
๑๒. สับเปลื่ยน ได้แก่การสลับทรัพย์ของตนกับของคนอื่น ถือเอาที่ตนต้องการ
๑๓. ลักลอบ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงไม่จ่ายตามพิกัด เช่นเลี่ยงภาษี
๑๔. ยักยอก ได้แก่การใช้อำนาจหน้าที่จำหน่ายทรัพย์ ของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยมิชอบ
ผู้ใดกระทำโจรกรรม ๑๔ อย่างนี้ ได้ทรัพย์มา ถือว่าศีลขาดและขอให้สังเกตด้วยว่า ที่ว่าได้ทรัพย์มานั้นหมายถึงการได้ทรัพย์ของตนเองก็มีเช่น ข้อที่ ๑๓ ตนควรจะจ่ายเงินเสียภาษีไปเท่าไรแต่หลบเลี่ยงไม่เสียภาษีตามกำหนดทรัพย์ส่วนที่ตัว ไม่เสียไปนั้นถือว่าได้มาด้วยโจรกรรม
ฉายาโจรกรรมผู้รักษาศีลข้อนี้นอกจากระวัง ไม่ให้ศีลขาดเพราะทำโจรกรรมแล้ว ถ้างดเว้นจากการกระทำที่เป็นฉายาโจรกรรมเสียได้ ก็จะทำให้ศีลบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งขึ้น ถ้าเว้นไม่ได้ศีลของผู้นั้นก็ด่างพร้อย
ฉายาโจรกรรม ในที่บางแห่งท่านแยกลักษณะออกเป็น ๒ อย่างคือ เป็นอนุโลม โจรกรรม ๑ เป็นฉายาโจรกรรม ๑ ดังนี้
ก. อนุโลมโจรกรรม ได้แก่
(๑) การสมโจร คือการสนับสนุนให้คนอื่นทำโจรกรรม
(๒) ปอกลอก คือ การคบคนอื่นเพื่อหวังหลอกเอาทรัพย์ (เช่นทำเป็นรักเขา)
(๓) รับสินบน คือ รับสินจ้างให้ตนกระทำผิดหน้าที่
ข. ฉายาโจรกรรม (บางแห่งว่า การผิดในทรัพย์) ได้แก่
(๑) ผลาญ คือ การทำให้ทรัพย์สินของคนอื่นเสียหาย เช่น เผาบ้านเรือนเขา
(๒) หยิบฉวย คือเอาสิ่งของของคนอื่นมาด้วยความมักง่าย ทำนองถือวิสาสะ
โปรดสังเกตว่า ตามข้อ (๑) การผลาญทรัพย์เป็นการทำให้ทรัพย์ของคนอื่นเสียหาย ด้วยความขัดเคืองใจหรือด้วยความคะนอง ไม่ถือเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน แต่ก็เป็นเรื่องที่อาจร้ายแรงยิ่งกว่าการถือเอาทรัพย์ก็ได้เช่น การวางเพลิง เป็นต้น
ศีลข้อที่ ๓ เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามกาม ในที่นี้หมายถึงเมถุน คือการส้องเสพระหว่างชายหญิง การผิดในกาม หมายถึง การเสพเมถุนกับบุคคลที่ต้องห้าม ผู้ใดเสพเมถุนกับคนที่ต้องห้าม ผู้นั้นทำผิดประเวณี ถือว่าศีลข้อนี้ขาด
บุคคลต้องห้ามของศีลข้อนี้ กล่าวรวม โดยสรุป ดังนี้
- สำหรับชายมีภรรยา หรือ หญิงมีสามี, หญิงอื่น หรือชายอื่น นอกจากภรรยา หรือสามีของตน เป็นหญิง หรือชายต้องห้ามสมสู่ทั้งหมด
- สำหรับชายไม่มีภรรยา หรือ หญิงไม่มีสามี ถ้าเป็นคนที่มีผู้ใหญ่ปกครองดูแล มิใช่ผู้เป็นอิสระแก่ตน หญิงหรือชายทุกคนย่อมเป็นบุคคลต้องห้ามสมสู่ทั้งสิ้น
- สำหรับชายหรือหญิงที่เป็นอิสระแก่ตน และยังไม่มีภรรยาหรือสามี หญิงหรือชายต้องห้าม คือ
(๑) หญิงมีสามีหรือชายมีภรรยา
(๒) ชายหรือหญิงมีญาติรักษา คือมีผู้ใหญ่ปกครองไม่เป็นอิสระแก่ตน
(๓) ชายหรือหญิงที่จารีตรักษา คือมีจารีตห้ามมิให้สมสู่ได้แก่
- ชายหรือหญิงที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอของตน
- ชายหรือหญิงหวงห้ามโดยข้อบังคับและอื่นๆ เช่น ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี ชายหรือ หญิงรักษาอุโบสถศีล (ศีล ๘) ผู้เยาว์ เป็นต้น ผู้ใดสมสู่กับหญิงหรือชายต้องห้าม ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือว่าศีลขาด
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงหลักการในทางปฏิบัติต้องพิจารณาโดยใช้หลักโยนิโสมนสิการ คือพิจารณาอย่างแยบคาย ร่วมด้วย

ฉายาแห่งกาเมสุมิจฉาจาร

โดยที่ศีลข้อนี้ มีความมุ่งหมายในการรักษาจารีตประเพณี ป้องกันการเสียหาย เพราะเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ผู้รักษาจึงควรงดเว้น จากการกระทำทุกอย่าง อันเป็นการลุอำนาจแก่ความรักใคร่ ระหว่างเพศ (ความกำหนัด) เช่น การลวนลามเพศตรงข้าม การหยอกล้อต่อกระซิกคู่ครองของคนอื่น ฯลฯ เพราะการทำเช่นนั้นทำให้ศีลเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส
ศีลข้อที่ ๔ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จการพูดเท็จ หรือมุสาวาท ซึ่งเป็นข้อห้ามในการรักษาศีลข้อนี้ หมายถึงการแสดงออกด้วยเจตนา บิดเบือนความจริง ให้คนอื่นหลงเชื่อ
- การแสดงออกทางวาจา คือ พูดให้ผิดจากความจริง โกหก
- การแสดงออกทางกาย คือ การกระทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดจากความเป็นจริง เช่นเขียนรายงานเท็จ หรือแกล้งพยักหน้า แกล้งสั่นศรีษะ แกล้งแสดงกิริยาอย่างอื่นซึ่งเป็นที่รู้กัน ให้คนอื่นหลงเชื่อผิดไปจากความจริง
ผู้ใดเจตนากระทำมุสา เมื่อผู้ที่ตนต้องการโกหกนั้น เข้าใจความหมาย ถือว่าศีลขาด
มุสาวาท ๗ วิธี
เพื่อสะดวกในการศึกษา และการปฏิบัติท่านจำแนกกิริยาที่เป็นมุสาวาทไว้ ๗ วิธี ดังต่อไปนี้
๑. ปด คือ โกหกชัดๆ เช่น ไม่รู้ว่ารู้ ไม่เห็นว่าเห็น
๒. ทนสาบาน คือ แสดงตัวฝืนความจริง เช่นคนทำผิดหลายคน ครูสั่งว่าใครทำผิดให้ยืนขึ้น แต่ผู้ทำผิดก็ทนนั่งอยู่
๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์ คือโกหกด้วยการแสร้งทำกิริยาอาการ ให้คนอื่นตีความผิดไปเอง เช่น ทำทีว่าเป็นคนพิการ ให้ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร
๔. มารยา คือ แสดงท่วงทีลวงคนอื่นให้เข้าใจผิด เช่น เจ็บน้อยแต่ครวญครางมาก
๕. ทำเลศ คือ แสดงนัยให้คนอื่นเข้าใจผิด เช่นพูดเล่นสำนวนวกไปวนมา
๖. เสริมความ คือ เรื่องมีมูลน้อย แต่พูดให้เห็นเป็นมาก
๗. อำความ คือ เรื่องมากแต่พูดให้เห็นเป็นน้อย ปิดความบกพร่องของตน
ฉายาแห่งมุสาวาท
นอกจากงดเว้นจากมุสาวาท ๗ อย่างนั้นแล้ว ผู้รักษาศีลข้อนี้ควรเว้นจากการแสดง อันมีลักษณะประหนึ่งมุสาวาทซึ่งจะทำให้ศีลของตนมัวหมอง คือ
- อนุโลมมุสา ได้แก่การแสดงที่อาจทำให้ฟัง หรือเห็นเข้าใจผิดจากความจริง เช่นการคุยโวโอ้อวดเกินสมควร
- ปฏิสสวะ ได้แก่ การรับคำคนอื่นแล้ว ไม่ทำตามรับ และไม่อยากคืนคำให้เป็นกิจจะลักษณะ แม้จะมีเหตุจำเป็นก็ไม่พ้นทำให้เป็นคนโกหกเขา
ข้อยกเว้น
มีการแสดงออกบางอย่างที่ไม่เป็นความจริง แต่ไม่ผิดศีล เพราะผู้แสดงออกไม่มีเจตนาจะกล่าวเท็จ คือ
(๑) ยถาสัญญา พูดไปตามที่ตนจำได้อย่างนั้นเข้าใจอย่างนั้น
(๒) โวหาร พูดไปตามแบบฟอร์มของการพูดในสังคม เช่น ลงท้ายจดหมายว่า “ขอแสดงความนับถืออย่างสูง” ทั้งๆ ที่ตนมิได้นับถือเขาเลย
(๓) นิยาย เล่านิทานซึ่งผูกขึ้นเพื่อฟังกันเพลินๆ
(๔) พลั้ง พูดพลั้งไปในทางปฏิบัติของศีลข้อนี้ นอกจากงดเว้นจากมุสาวาท ท่านอาจจะงดเว้นจากการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อไปด้วย
ศีลข้อที่ ๕ เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาทน้ำเมาอันเป็นวัตถุต้องห้าม ในสิกขาบทนี้ท่านจำกัดไว้ว่า เฉพาะสิ่งที่เป็นตั้งแห่งความประมาทคือ เมื่อเสพเข้าไปในร่างกายแล้ว ทำให้สติเลื่อนลอยขาดการควบคุมตนเอง ตรงกับที่ร้องเรียกในสมัยนี้ว่า สิ่งเสพติดให้โทษ ในตัวสิกขาบทท่านยกขึ้นเป็นตัวอย่าง ๒ ชนิด คือ สุรากับเมรัย สุราได้แก่ น้ำเมาที่กลั่น เมรัยได้แก่น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น หรือ เหล้าดิบ
ตรงกับศัพท์ในคำสมาทานศีลที่ว่า “สุราเมรย….”
ที่ท่านระบุไว้เพียงสองอย่างนี้ขอให้เข้าใจว่าท่านระบุ เพียงตัวอย่าง ในทางปฏิบัติเราต้องถือหลักการใหญ่เป็นหลัก คืองดเว้นจากการเสพสิ่งมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาททุกชนิด จะเสพด้วย วิธีดื่ม สูบ ฉีด หรือวิธีใดก็ตาม และไม่ว่าจะมีผู้ค้นพบสิ่งดังว่านี้ใหม่ หรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม หากทำให้ผู้เสพเกิดความมึนเมา ถึงประมาทขาดสติ เป็นอันห้ามทั้งสิ้น
Lotus

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น