2554/10/28

เงินที่หล่นหาย

อย่าดูถูกละอองน้ำ เพราะวันหนึ่งมันจะกลายเป็นเม็ดฝน
อย่าดูถูกเม็ดฝน เพราะวันหนึ่งมันจะกลายเป็นลำธาร
อย่าดูถูกลำธาร เพราะวันหนึ่งมันจะกลายเป็นแม่น้ำ
อย่าดูถูกแม่น้ำ เพราะวันหนึ่งมันจะกลายเป็นมหาสมุทร
อย่าดูหมิ่นเงินจำนวนน้อย วันหนึ่งมันจะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ 

คุณเคยทำเงินหล่นหายหรือเปล่า เชื่อหรือไม่ว่า หากคุณสามารถรวบรวมเงินที่คุณทำหายไปในแต่ละเดือน แต่ละปีเข้าด้วยกัน แล้วละก้อ เงินจำนวนนี้จะมีจำนวนมากพอที่จะทำให้คุณมีชีวิตอยู่อย่างสบายใน วัยเกษียณ




อย่าเพิ่งแปลกใจว่า เงินอะไรที่หล่นหายมากมายขนาดนี้ ผมไม่ได้พูดถึงเงินที่หล่นหายไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ทันสังเกตุ เห็น แต่ผมกำลังหมายถึงเงินที่ทำหล่นหายไปต่อหน้าต่อตา ขณะที่เรายังมีสติสัมปชัญญะ ครบถ้วนอยู่ เงินที่สูญไปเพราะความฟุ่มเฟือย , ความสะเพร่า หรือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของเรานั่นเอง คนจำนวนมากมักเข้าใจว่า การที่เราเก็บเงินไม่ได้นั้น เป็นเพราะเรามีรายได้น้อยเกินไป แต่นักวางแผนการเงินจะบอกว่า การจะเก็บเงินได้หรือไม่นั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับรายได้ แต่ขึ้นกับวิธีบริหารจัดการค่าใช้จ่ายมากกว่า

จากสมการ เงินเก็บ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย

ถึงคุณจะมีรายได้มากมายสักเพียงใด แต่ถ้าคุณยังคงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เพิ่มพูน ไปตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือ ถึงกับใช้เงินเกินรายได้ที่หามาได้ ด้วยการกู้ยืมมาบริโภค ถ้าเป็นอย่างนี้ ต่อให้หามาได้สักเท่าไร ก็ไม่มีเหลือเก็บ แต่ถ้ามีรายได้น้อย แล้วพยายามใช้จ่ายอย่างกระเบียดกระเสียร ใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายได้ ส่วนที่เหลือย่อมสามารถแบ่งมาเก็บออมได้ บางคนอาจจะอ้างว่า เขาได้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุดแล้ว ยังไม่พอใช้อยู่ดี นั่นแสดงว่า เขาใช้ชีวิตเกินตัว หรือมีรสนิยมเกินรายได้ เพราะเราคงเคยได้ยินว่า มีคนไทยมากมายที่มีรายได้เพียงเดือนละ 3,000 - 4,000 บาท แต่เขาก็สามารถดำรงชีพได้ตามอัตภาพ ขณะที่บางคนมีรายได้เดือนละร่วมแสน แต่เป็นหนี้เป็นสินจนต้องหลบลี้หนีหน้าผู้คน หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คงไม่ต่างกับการเปิดก๊อกน้ำประปาแรงๆ แล้วใช้มือเข้าไปรอง ย่อมได้น้ำติดมือมานิดเดียว ยิ่งถ้าทำผิดวิธี กางนิ้วห่างๆออกรองรับน้ำไว้ น้ำจะรั่วไหลออกหมด ไม่เหลือแม้แต่หยดเดียว แถมน้ำยังอาจกระเด็นเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้ แต่ถ้ารู้วิธี ถึงแม้น้ำจากก๊อกจะไหลออกมาเอื่อยๆ หากค่อยๆประคองมือรับ ย่อมได้น้ำติดมือมามากกว่า ยิ่งถ้าน้ำไหลมาแรงๆแล้วรู้วิธีนำถัง ,ภาชนะมารอง ย่อมไม่ต้องอธิบายว่าจะเก็บน้ำได้มากขนาดไหน ในชั้นนี้ ผมคิดว่า เราน่าจะได้ข้อสรุปว่า การจะเก็บเงินได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับการควบคุมค่าใช้จ่ายมากกว่า แต่ การเพิ่มรายได้ จะทำให้การเก็บออมบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น 

ดังนั้น สมการออมเงินยุคใหม่ต้องเป็นดังนี้ 

รายได้ - เงินเก็บ = ค่าใช้จ่าย

คือเราต้องหักเงินเก็บออกมาในแต่ละเดือนก่อน เสมอ

ผมเชื่อว่า ทุกวันนี้ ทุกคนก็พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือเก็บมากที่สุด จะได้นำไปลงทุน หรือฝากเก็บไว้เพื่อใช้ตอนแก่ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในเวลาเดียวกันเราทุกคนก็ทำเงินรั่วไหลไปเยอะโดยที่เราไม่ระวังหรือ คาดไม่ถึง เราลองมาทบทวนกันดูว่ามีช่องทางไหนบ้าง ที่เรามักจะทำเงินหล่นหายไปอยู่เสมอๆ



1. การซื้อสินค้าเงินผ่อน หรือกู้เงินนอกระบบมาใช้ เงินพวกนี้ส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยแบบรายเดือน หรือ Flat rate ไม่ลดต้นลดดอก เมื่อดูอัตราดอกเบี้ยต่อเดือนรู้สึกเหมือนไม่สูง แต่ถ้ามาคำนวณอย่างละเอียด จะพบว่าดอกเบี้ยอาจสูงถึง 20-50 % ต่อปี ถามว่า ถ้าคุณมีภาระค่าดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ เมื่อไรจะรวยเสียที ถ้าอยากมีเงินเหลือเก็บ ผมแนะนำว่าให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ไม่มีเงินก้อนอย่าไปซื้อ เว้นแต่สิ่งที่เป็นหลักทรัพย์ เช่น บ้าน , รถ ถ้ายังไม่มีและจำเป็นต้องใช้จริงๆ อาจจะค่อยๆผ่อนได้ แต่ควรสืบเสาะแหล่งเงินกู้ที่ดีที่สุดก่อนเพราะบางครั้งดอกเบี้ย , ค่าธรรมเนียมหรือวิธีชำระที่ต่างกัน สามารถช่วยประหยัดเงินได้นับหมื่นบาทต่อปี

2. การใช้สินค้าไม่คุ้มค่าอายุงาน สินค้าและของใช้แต่ละชนิดมีอายุงานที่คงทนพอสมควร เช่น รถยนต์ หากบำรุงรักษาสม่ำเสมอ จะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 8 ปี โดยไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจ โทรศัพท์มือถือ ก็สามารถใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่วัยรุ่นสมัยนี้ เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเป็นว่าเล่น บางคนเปลี่ยนทุกสามเดือน ส่วนรถยนต์ พอมีการเปลี่ยนรุ่นใหม่ ซึ่งมักจะตกประมาณ 4 -5 ปี ก็จะซื้อรถใหม่ตามแฟชั่น ปัญหา คือ ราคาขายต่อรถเก่ามักจะลดฮวบลงมาครึ่งต่อครึ่ง หากนำมูลค่าที่ลดลงมาหารด้วยจำนวนปีที่ใช้ จะพบว่าเงินที่ถูกจ่ายเพื่อซื้อความเท่ หรือความสะดวกสบายนั้นเป็นยอดเงินที่สูงทีเดียว ถ้าคำนวณออกมาและเห็นตัวเลขแล้ว เรารู้สึกสะดุ้ง แสดงว่าเราใช้จ่ายเงินเกินฐานะไปแล้ว รีบเปลี่ยนพฤติกรรม ก่อนจะสายเกินไป

3. การลงทุนทำธุรกิจโดยไม่ศึกษาให้รอบคอบเสียก่อน หลายคนอุตสาห์เก็บเงินจนได้เงินก้อน แต่เมื่อมีคนชวนไปลงทุน แทนที่จะไตร่ตรองหรือศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า ธุรกิจนั้นๆเติบโตยั่งยืนไหม มีตลาดใหญ่พอไหม หรือ ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง กลับทุ่มเงินลงทุนโดยขาดประสบการณ์ สุดท้ายเงินที่เก็บมาครึ่งชีวิตต้องมลาย หายไป ต้องเริ่มมาเก็บเงินใหม่ตอนที่อายุขึ้น เลข 5 ไปแล้ว 

4. การให้คนอื่นยืมเงินแล้วหนี้สูญ จริงอยู่คนเราควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่การนำเงินที่เราอุตสาห์เก็บออมมาชั่วชีวิตเพื่อไว้ใช้ยาม เกษียณไปให้เพื่อนยืมนั้น นับว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเราเอาชีวิตของเราไปแขวนไว้กับวิธีบริหารเงินของเขา ถ้าเขาบริหารเงินผิดพลาดอย่างที่เคยทำมา เราก็ต้องมานั่งน้ำตาตกใน การเข้าค้ำประกันเงินกู้หรือค้ำประกันการเข้าทำงานให้คนอื่น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นำความหายนะมาให้ผู้ค้ำ หากไม่มีการตรวจสอบหรือกลั่นกรองให้รอบคอบก่อน เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น มูลค่าความเสียหายอาจจะสูญเป็นแสนเป็นล้านได้ 

5. การซื้อหวย เล่นการพนัน ผมเคยได้ยินคนพูดกันว่า ทุกวันนี้เขามีเงินเดือนๆละ 10,000 - 20,000 บาท แต่มีภาระค่าใช้จ่ายมากมาย เพราะฉะนั้นเขาจึงเชื่อว่า ถึงแม้เขาจะตั้งใจเก็บเงินอย่างจริงจัง ก็ไม่สามารถทำให้เขารวยได้ ความหวังเดียวของเขาคือ ซื้อหวยเพื่อให้ถูกรางวัลที่ 1 ถึงจะมีโอกาสน้อยมากแต่ก็ยังดีกว่าอยู่โดยไม่มีความหวังเลย ผมเห็นด้วยว่า คนเราควรมีชีวิตอยู่ อย่างมีความหวัง แต่การอยู่โดยหวังว่าจะถูกรางวัลที่ 1 แล้วจะรวยเป็นเศรษฐีนั้น ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วมีโอกาสน้อยมาก และถึงแม้จะถูกรางวัลที่ 1 จริง ผมไม่เชื่อว่าเงินรางวัล 3,000,000 บาทจะทำให้คนรวยได้ เพราะถ้าบริหารเงินไม่เป็น ไม่ถึงปีก็หมดซ้ำจะทำให้ติดนิสัยซื้อหวยหนักมือยิ่งขึ้น และนำไปสู่ภาระหนี้สินในที่สุด 

6. การซื้อสินค้าโดยไม่มีความจำเป็น ลองคิดดูว่าบ่อยครั้งขนาดไหน ที่คุณซื้อของบางชิ้นเข้าบ้านโดยไม่อยู่ในแผนมาก่อน บางทีห้างสรรพสินค้าลดราคา 50% สินค้าลดราคาจาก 1,000 บาทลงมาที่ 500 บาท แล้วคุณก็ซื้อมันมาเก็บไว้ในห้องเก็บของ เวลาผ่านไป 3 -5 ปี ไปรื้อของเจอ พบว่าราคาสินค้าชิ้นนั้นถ้าคิดตามสภาพอาจอยู่ที่ 200 บาทเท่านั้น เพราะมันตกยุคตกสมัยไปแล้ว ของเล่นลูกก็คงมีลักษณะเดียวกัน พ่อแม่ซื้อเพราะทนต่อเสียงรบเร้าของลูกไม่ได้ ไม่ใช่ซื้อเพราะเป็นของเล่นที่เสริมสร้างสติปัญญา สุดท้ายลูกเล่นได้ 2 วันก็เบื่อ ของเล่นจึงเต็มบ้านกลายเป็นภาระต้องหาห้องไว้เก็บของเล่นโดย เฉพาะ ดังนั้นครั้งต่อไป จะซื้ออะไร ต้องคิดแล้วว่าคุ้มค่า มีประโยชน์ใช้สอยจริงๆ 

7. การซื้อของแบบเหมาจ่าย หากฟังดูเผินๆการซื้อของแบบเหมา น่าได้ของราคาถูกกว่า แต่ข้อเท็จจริงก็คือ คุณต้องใช้สินค้าหรือบริการนั้นครบทุกรายการจึงจะคุ้มค่าเงินที่ เสียไป แต่ถ้าคุณใช้บริการบางส่วน เช่นใช้ไปเพียง 50 -70%ของสิทธิที่มี เมื่อคำนวณราคาสินค้าที่ใช้ไปก็ไม่ต่างอะไรจากราคาปรกติเลย อีกทั้งยังจะทำให้คุณติดนิสัยฟุ่มเฟือยอย่างยากที่จะแก้ไข สินค้าเหล่านี้ได้แก่ เพคเกจค่าโทรศัพท์มือถือ , อาหารบุฟ่เฟ่ต์ , สมาชิกโรงแรมต่างๆ หรือ สมาชิกสปอร์ตคลับ ดังนั้นถ้าจะสมัครเข้าใช้บริการ ต้องมั่นใจว่าคุณจะได้ใช้บริการต่างๆเหล่านั้นครบถ้วนจริงๆ หาไม่แล้ว คุณก็เหมือนถูกหลอกให้ เข้าไปช่วยแบ่งรับค่าใช้จ่ายให้คนอื่นนั่นเอง 

8. เงินลดหย่อนภาษี สิทธิพิเศษทางภาษี เป็นสิ่งที่นักการเงินส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ เพราะได้มาฟรีๆ ได้แน่นอนและคิดเป็นยอดเงินที่สูงมาก ลองคิดดูว่ากว่าจะฝากเงินให้ได้ดอกเบี้ย ราว 10,000 บาท คุณต้องมีเงิน 1,000,000 บาทฝากแช่นิ่งๆไว้ในธนาคารตั้ง 1 ปีเต็ม (ดอกเบี้ย 1%) แต่ถ้าคุณรู้จักใช้สิทธิลดหย่อนในการเสียภาษีบุคคลธรรมดา เพียงคุณใช้สิทธิแค่ 100,000 บาท คุณจะได้รับเงินภาษีคืนมาตั้ง 10,000 - 30,000 บาททีเดียว ไม่มีความเสี่ยง ไม่ต้องรอลุ้นผลประกอบการ ผลตอบแทน 10 –37% ของยอดเงินที่ใช้สิทธิลดหย่อน ( ขึ้นกับฐานภาษีของแต่ละคน ) เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดา อย่าลืมตรวจสอบว่า คุณได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนครบทุกหมวดหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยประกันชีวิต , เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ , ดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัย เงินบริจาค หรือการขอเครดิตภาษีเงินปันผล เพราะรัฐบาลได้ให้สิทธินั้นแก่คุณ แล้ว เฉพาะเบี้ยประกันชีวิต ดอกเบี้ยซื้อบ้านและเงินในกองทุนต่างๆที่กรมสรรพากรกำหนด รวมเป็นเงินลดหย่อนได้กว่า 1,000,000 บาท อยู่ที่คุณจะใช้สิทธินั้นหรือไม่ ( ยังไม่นับรวม เงินบริจาคและเงินเครดิตภาษีเงินปันผลที่นำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่น กัน แต่วงเงินขึ้นกับเงินได้สุทธิ และเงินปันผลที่ได้รับ) 

9. ลดการสูญเสียเงินก้อนใหญ่ด้วยเงินก้อนเล็ก ในชีวิตประจำวัน มีเหตุไม่คาดฝันมากมายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา บางเรื่องอาจทำให้เราสูญเสียเงินทอง , ทรัพย์สิน หรือแม้แต่ชีวิตได้ ความเสี่ยงที่ว่านี้ได้แก่ อุบัติเหตุ , เจ็บป่วย , ไฟไหม้ , หรือ โจรเข้าบ้าน ฯลฯ เราสามารถลดความสูญเสียเหล่านี้ได้โดยการทำประกันภัย เพื่อโอนความรับผิดชอบไปให้บริษัทประกันภัยรับแทน หาไม่แล้วเราคงต้องมาเริ่มต้นเก็บเงินกันใหม่ที่อายุ 40 -50 ปี เพราะทรัพย์สินที่หามาได้ทั้งหมดอยู่ในกองเพลิง หรือ ต้องเอาทรัพย์สินออกขายเพื่อใช้รักษาตัวกรณีมีโรคร้ายแรงเกิดขึ้น ฉะนั้น ยอมจ่ายเบี้ยประกันจำนวนน้อยดีกว่ามาเสียหายเพราะเรื่องใหญ่ๆ 

10. การใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่มีการวางแผน ผมไม่ได้พูดว่า จะทำอะไรแต่ละอย่างในชีวิตต้องวางแผนทั้งหมด แต่อย่างน้อยก่อนจะทำอะไร ให้หยุดคิดสัก 1 นาที เพื่อวางแผนก่อน ผมว่าจะประหยัดอะไรได้เยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือเงินทอง เช่น รู้จักวางแผนการเดินทาง ก่อนออกรถทุกครั้ง ลองคิดดูว่าจะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากขนาดไหน , กำหนดเวลาการโทรศัพท์ไว้คร่าวๆ เพื่อประหยัดเวลาและค่าโทรศัพท์ หรือ กำหนดรายการอาหารคร่าวๆก่อนสั่งอาหาร เพื่อจะได้ไม่ต้องมีเหลืออาหารเต็มโต๊ะเพราะทานไม่หมด เป็นต้น 

11. ลดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น มีค่าใช้จ่ายมากมายที่ถ้าเรามานั่งคิดย้อนหลังดีๆจะพบว่าไม่จำเป็น หรือจัดว่าใช้เงินเกินตัว เช่น การเข้าสังคมที่ถี่เกินไป , การกินเหล้า , สูบบุหรี่ , การทานข้าวนอกบ้านเป็นประจำ หากเราสามารถลดกิจกรรมเหล่านี้ลง ไปได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว อย่าลืมว่าหนึ่งบาทที่ประหยัดได้ จะกลายเป็นหนึ่งบาทที่เก็บได้ทันที ลองคิดดูว่าถ้าประหยัดได้เดือนละ 2,000 บาท ปีหนึ่งจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นตั้ง 24,000 บาททีเดียว 

ที่มา บรรยง วิทยวีรศักดิ์ (ข้อคิดเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง ที่เขียนด้วยภาษาง่ายๆ แต่น่าสนใจ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น